Post
องค์ความรู้จากป่า พัฒนาสมุนไพรพื้นถิ่น สร้างระบบวนเกษตร สู่การเพิ่มมูลค่ายังประโยชน์แก่ชุมชน

October 19, 2023

ชุมชนทุ่งสง ตำบลถ้ำใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำตรัง เดิมเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำหลากซ้ำซาก น้ำไหลแรง เนื่องจากยังขาดแหล่งชะลอน้ำ ป่าต้นน้ำขาดการดูแลรักษาและ ขาดแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้สำหรับเก็บน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง ต่อมาในปี 2559 ชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้กับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. โดย สสน. ให้ความรู้ในการใช้วิทยาศาตร์และเทคโนโลยีในการวิเคราะห์พื้นที่ ใช้แผนที่ ผังน้ำ ในการวางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ ปัจจุบันชุมชนมีแหล่งสำรองน้ำสำหรับการเกษตร ป่าต้นน้ำได้รับการฟื้นฟู ส่งผลให้พื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยพืชพันธุ์หลากหลายชนิด ทั้งไม้ยืนต้น ไม้เนื้อแข็ง ไม้ล้มลุก เถาวัลย์ รวมทั้งพืชสมุนไพรต่างๆ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้นำมาใช้ประโยชน์ และนำมาขยายพันธุ์เพาะปลูกในพื้นที่แปลงเกษตรของตัวเอง เกษตรกรเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกพืชแบบผสมผสานร่วมกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
พริกไทยเป็นสมุนไพรท้องถิ่นของภาคใต้ เป็นพืชเถา เนื้อแข็ง มีรากฝอยตามข้อเถา อาศัยเกาะติดอยู่กับค้างและต้นไม้อื่น ดอกจะเป็นดอกช่อ ผลลักษณะเป็นทรงกลมเรียงบิดตัวกันอย่างแน่นหนาอยู่กับแกนของช่อ มีสีเขียว และแดง เมล็ดมีสีขาวนวล มีใบใหญ่ เป็นพืชที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาของเครื่องเทศ ที่มีกลิ่นฉุน และเป็นเครื่องเทศที่ให้รสเผ็ด
พริกไทยที่ชาวบ้านในชุมชนทุ่งสงนำมาปลูกเป็นพริกไทยพันธุ์พื้นบ้านขึ้นเองตามธรรมชาติในป่าต้นน้ำ ตำบลถ้ำใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวบ้านนำมาขยายพันธุ์โดยปลูกให้ยึดเกาะกับต้นไม้ ค้างปูนเสาซิเมนต์ ค้างไม้ การปลูกพริกไทยยึดเกาะต้นไม้สามารถทำได้กับต้นไม้ทุกต้นที่อยู่ในแปลง แทนค้าง เพื่อให้พริกไทยได้เลื้อยต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ และพันรอบต้นไม้ตามธรรมชาติ เป็นการลดต้นทุนในการซื้อค้างปูนซิเมนต์ และเสาไม้ ผลผลิตจากพริกไทยนำมาขายแบบสด แบบแห้ง และแปรรูป เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่น